บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบการใช้คำ ชุดที่ 5

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  ข้อใดเป็นคำประสมทุกคำ
ก.  น้ำเชี่ยว   น้ำเชื่อม   น้ำหวาน
ข.  ไม้กวาด   ไม้เท้า   ไม้หัก
ค.  รถถัง   รถขยะ   รถเมล์
ง.  เรือแล่น   เรือพ่วง  เรือโยง

ข้อที่  2.  ข้อต่อไปนี้ “นกกินปลา” ในข้อใดเป็นรูปคำประสมได้เพียงอย่างเดียว
ก.  นกกินปลาตัวโต
ข.  นกกินปลาริมคลอง
ค.  นกกินปลาตัวนี้ปีหัก
ง.  นกกินปลาอยู่ที่ริมคลอง

ข้อที่  3.  คำว่า “ต่อ” ในข้อใดเป็นคำบุพบท
ก.  เขามาต่อว่าฉัน
ข.  เธอต้องให้การต่อศาล
ค.  เรื่องนี้ ฉันคิดว่าเราเป็นต่อ
ง.  ฉันกำลังติดต่อให้เขาทราบ

ข้อที่  4.  ข้อใดใช้บุพบทผิด
ก.  พ่อแม่ให้ความรักแก่ลูก
ข.  พี่ต้องเสียสละแก่น้อง
ค.  พระพุทธเจ้าทรงเมตตาแก่สัตว์โลก
ง.  ประชาชนถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข้อที่  5.  ข้อใดใช้ลักษณนามได้ถูกต้อง
ก.  พิณพาทย์ชุดนี้มีเชื่อเสียง
ข.  พิณพาทย์คณะนี้มีเชื่อเสียง
ค.  พิณพาทย์วงนี้มีเชื่อเสียง
ง.  พิณพาทย์พวกนี้มีเชื่อเสียง

เฉลย

ข้อที่  1.  ข้อใดเป็นคำประสมทุกคำ
ก.  น้ำเชี่ยว   น้ำเชื่อม   น้ำหวาน
ข.  ไม้กวาด   ไม้เท้า   ไม้หัก
ค.  รถถัง   รถขยะ   รถเมล์
ง.  เรือแล่น   เรือพ่วง   เรือโยง

วิเคราะห์

คำประสม พจนานุกรมให้ความหมายไว้ดังนี้
น. คําที่เกิดจากการนําคํามูลที่เกิดอิสระได้ตั้งแต่ ๒ คําขึ้นไปมาประสมกันแล้วกลายเป็นคําใหม่ที่มีความหมายใหม่ขึ้นมาอีกคําหนึ่ง เช่น ลูกเสือ ลูกน้ำ แขกยาม เครื่องใน ไฟฟ้า.
คำตอบในข้อนี้ ข้อ ค. ถูก
ข้ออื่นๆ ข้อความที่ไม่ใช่คำประสมคือ
น้ำเชี่ยว   เป็นประโยค
ไม้หัก   เป็นประโยค
เรือแล่น   เป็นประโยค

ข้อที่  2.  ข้อต่อไปนี้ “นกกินปลา” ในข้อใดเป็นรูปคำประสมได้เพียงอย่างเดียว
ก.  นกกินปลาตัวโต
ข.  นกกินปลาริมคลอง
ค.  นกกินปลาตัวนี้ปีหัก
ง.  นกกินปลาอยู่ที่ริมคลอง

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค. คำที่ชี้ให้เห็นว่า “นกกินปลา” เป็นคำประสมก็คือ คำขยาย “ตัวนี้” ซึ่งเป็นนิยมสรรพนาม
“นกกินปลา” ในข้ออื่นๆ เป็นประโยค

ข้อที่  3.  คำว่า “ต่อ” ในข้อใดเป็นคำบุพบท
ก.  เขามาต่อว่าฉัน
ข.  เธอต้องให้การต่อศาล
ค.  เรื่องนี้ ฉันคิดว่าเราเป็นต่อ
ง.  ฉันกำลังติดต่อให้เขาทราบ

วิเคราะห์

บุพบท พจนานุกรมให้ความหมายไว้ดังนี้
น. คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ ทําหน้าที่เชื่อมคําต่อคํา อยู่หน้านาม สรรพนาม หรือกริยา มีคําว่า ด้วย โดย ใน เป็นต้น เช่น เขียนด้วยดินสอ หนังสือของฉัน กินเพื่ออยู่.
จากความหมายของคำบุพบท แสดงว่า คำบุพบทต้องอยู่หน้า คำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยาเท่านั้น
ดังนั้น ข้อ ค. ผิดแน่นอน  
คำว่า “ต่อว่า” กับ “ติดต่อ” เป็นคำกริยา ดังนั้น ข้อ ก. กับ ข้อ ง. ก็ผิด
คำตอบที่ถูกต้องในข้อนี้ คือ ข้อ ข.

ข้อที่  4.  ข้อใดใช้บุพบทผิด
ก.  พ่อแม่ให้ความรักแก่ลูก
ข.  พี่ต้องเสียสละแก่น้อง
ค.  พระพุทธเจ้าทรงเมตตาแก่สัตว์โลก
ง.  ประชาชนถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วิเคราะห์
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.  ซึ่งควรเขียน ดังนี้  “พี่ต้องเสียสละให้น้อง”

ข้อที่  5.  ข้อใดใช้ลักษณนามได้ถูกต้อง
ก.  พิณพาทย์ชุดนี้มีเชื่อเสียง
ข.  พิณพาทย์คณะนี้มีเชื่อเสียง
ค.  พิณพาทย์วงนี้มีเชื่อเสียง
ง.  พิณพาทย์พวกนี้มีเชื่อเสียง

วิเคราะห์
พิจารณาจากตัวเลือก ข้อ ก. กับ ข้อ ง. ผิดแน่นอน  เหลือให้เลือกคือ ลักษณนาม “คณะ” กับ “วง” ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายไว้ดังนี้
คณะ น. หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่); กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว;
หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกันเช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์;
กลุ่มคำที่จัดให้มีลักษณะเป็นไปตามแบบรูปของร้อยกรองแต่ละประเภท ประกอบด้วยบทบาท วรรค และคำ ตามจำนวนที่กำหนด, หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแต่งฉันท์วรรณพฤติ มี ๘ คณะ คือ ช คณะ ต คณะ น คณะ ภ คณะม คณะ ย คณะ ร คณะ ส คณะแต่ละคณะมี ๓ คำ หรือ ๓ พยางค์โดยถือครุและลหุเป็นหลัก. (ป., ส.).
วง  น. รูปที่มีเส้นที่โค้งเข้ามาบรรจบกัน ล้อมรอบเป็นขอบเขตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น วงกลม วงรี, โดยปริยายหมายถึงลักษณะที่รวมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม เช่น วงราชการ วงดนตรี;
ส่วนสัดของมือที่ใช้ในการรํา, คู่กับ เหลี่ยม คือ ส่วนสัดของขาที่ใช้ในการรํา;
ลักษณนามใช้เรียกของที่เป็นวง เช่น แหวนวงหนึ่ง หรืออาการที่คนหลายๆ คนนั่งหรือยืนล้อมกันเป็นวง เช่น ไพ่วงหนึ่ง ระบำชาวไร่ ๒ วง นั่งล้อมวงกินข้าว ๓ วง หรือการเล่นที่มีคนหลายๆ คนร่วมกันเป็นชุดเป็นคณะ เช่น เครื่องสายวงหนึ่ง แตรวงวงหนึ่ง ดนตรี ๒ วงประชันกัน.
ก. ล้อมรอบ, ทําเครื่องหมายเป็นรูปวงอย่างเอาดินสอเขียนป็นรูปวงหมายไว้ หรือใช้ด้ายหรือเชือกอ้อมมาบรรจบกันเช่น วงสายสิญจน์.

ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น