บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

คำสมาส-คำสนธิ

คำว่า “สมาส” พจนานุกรมให้ความหมายไว้ ดังนี้

สมาส น. การเอาศัพท์ตั้งแต่ ๒ ศัพท์ขึ้นไปมาต่อกันเป็นศัพท์เดียวตามหลักที่ได้มาจากไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต เช่น สุนทร + พจน์ เป็น สุนทรพจน์ รัฐ + ศาสตร์ เป็น รัฐศาสตร์ อุดม + การณ์ เป็น อุดมการณ์. (ป., ส.).

ดังนั้น คำสมาสก็ควรจะมีความหมาย ดังนี้

คำสมาสเป็นคำที่สร้างขึ้นใหม่จากคำในภาษาไทย ที่ยืมมาจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤต คำที่สร้างใหม่นี้ เสียงอ่านจะต่อเนื่องกัน

หลักสังเกตคำสมาส

๑. ต้องเป็นคำที่มาจากภาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น
  • ราช + การ  =  ราชการ
  • กิจ +  กรรม  =  กิจกรรม
  • วาต +  ภัย  =  วาตภัย


๒. การอ่านคำสมาสจะอ่านเสียงสระเนื่องกัน 
  • ถาวรวัตถุ  อ่านว่า  ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ
  • เทพบุตร  อ่านว่า  เทบ-พะ-บุด
  • ประวัติศาสตร์  อ่านว่า  ประ-หวัด-ติ-สาด
  • อุบัติเหตุ  อ่านว่า  อุ-บัด-ติ-เหด


๓. ความหมายหลักของคำอยู่ที่คำหลัง  คำหน้าจะเป็นคำขยายความหมาย
  • ราชการ  หมายถึง  งานของรัฐบาล
  • วีรบุรุษ  หมายถึง  ชายที่ได้รับยกย่องว่ากล้าหาญ
  • วรรณคดี  หมายถึง  เรื่องที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี


๔. คำบาลี –สันสกฤตที่มีคำ “พระ”  ซึ่งกลายเสียงมาจากคำบาลี-สันสกฤต “วร” ถือว่าเป็นคำสมาสด้วย เช่น พระกร  พระหัตถ์  พระชงฆ์   พระคทา  พระขรรค์

แต่ถ้านำหน้าภาษาอื่น  ไม่นับเป็นคำสมาส
  • พระเก้าอี้  -  เก้าอี้ (จีน)
  • พระเขนย  -  เขนย (เขมร)
  • พระอู่  -  อู่ (ไทย)
  • พระขนอง  -  ขนอง (เขมร)


๕. คำสมาสต้องไม่ประวิสรรชนีย์ระหว่างคำ
  • อิสระ + ภาพ  =  อิสรภาพ
  • พละ + ศึกษา  =  พลศึกษา
  • วีระ + ชน  =  วีรชน


๖. คำสมาสจะตัดตัวการันต์ระหว่างคำทิ้ง
  • เจดีย์ + สถาน  =  เจดียสถาน
  • ทิพย์ + เนตร  =  ทิพยเนตร
  • พิพิธภัณฑ์ + สถาน  =  พิพิธภัณฑสถาน


๗. คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า  “ศาสตร์   กรรม   ภาพ    ภัย”  เป็นคำสมาส
  • ศิลปศาสตร์   มนุษยศาสตร์  เวชศาสตร์
  • โจรกรรม   ธุรกรรม   วีรกรรม
  • คุณภาพ   อัจฉริยภาพ   สมรรถภาพ



คำว่า “สนธิ” พจนานุกรมให้ความหมายไว้ ดังนี้

สนธิ น. ที่ต่อ, การติดต่อ; การเอาศัพท์ตั้งแต่ ๒ ศัพท์ขึ้นไปมาเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกันตามหลักที่ได้มาจากไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต เช่น พจน + อนุกรม เป็นพจนานุกรมราช + อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์ นว + อรห + อาทิ + คุณ เป็น นวารหาทิคุณ. (ป., ส.).

ดังนั้น คำสมาสก็ควรจะมีความหมาย ดังนี้

คำสนธิเป็นคำที่สร้างขึ้นใหม่จากคำในภาษาไทย ที่ยืมมาจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤต คำที่สร้างใหม่นี้ มีการเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกัน

หลักสังเกตคำสนธิในภาษาไทย

การสนธิแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. สระสนธิ 2. พยัญชนะสนธิ 3. นฤคหิตสนธิ

1. สระสนธิ คือ การนำคำที่ลงท้ายด้วยสระไปสนธิกับคำที่ขึ้นค้นด้วยสระ ซึ่งเมื่อสนธิแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระตามกฎเกณฑ์

- ตัดสระพยางค์ท้ายคำหน้า แล้วใช้สระพยางค์หน้าคำหลัง เช่น
  • ราช + อานุภาพ  =  ราชานุภาพ
  • สาธารณ + อุปโภค  =  สาธารณูปโภค
  • นิล + อุบล  =  นิลุบล
  •  

- ตัดสระพยางค์ท้ายคำหน้า และใช้สระพยางค์ต้นของคำหลัง โดยเปลี่ยนสระพยางค์ต้นของคำหลัง
  • อะ  เป็น  อา 
  • อิ  เป็น  เอ
  • อุ  เป็น  อู
  • อุ, อู  เป็น  โอ 

เช่น
  • พงศ + อวตาร  =  พงศาวตาร
  • ปรม + อินทร์  =  ปรเมนทร์
  • มหา + อิสี  =  มเหสี


- เปลี่ยนสระพยางค์ท้ายของคำหน้าเป็นพยัญชนะ คือ
  • อิ อี       เป็น      ย
  • อุ อู       เป็น      ว


ใช้สระพยางค์ต้นของคำหลังซึ่งอาจเปลี่ยนรูปหรือไม่เปลี่ยนรูปก็ได้ ในกรณีที่สระพยางค์ต้นของคำหลังไม่ใช่ อิ อี อุ อู อย่างสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
  • กิตติ + อากร  =  กิตยากร
  • สามัคคี + อาจารย์  =  สามัคยาจารย์
  • ธนู + อาคม  =  ธันวาคม


คำสนธิบางคำไม่เปลี่ยนสระ อิ อี เป็น ย แต่ตัดทิ้ง ทั้ง สระพยางค์หน้าคำหลังจะไม่มี อิ อี ด้วยกัน เช่น
  • ศักดิ + อานุภาพ  =  ศักดานุภาพ
  • ราชินี+ อุปถัมภ์  =  ราชินูปถัมภ์
  • หัสดี + อาภรณ์  =  หัสดาภรณ์


2. พยัญชนะสนธิ คือการเชื่อมคำด้วยพยัญชนะเป็นการเชื่อมเสียง พยัญชนะในพยางค์ท้ายของคำแรกกับเสียงพยัญชนะหรือสระในพยางค์แรก ของคำหลัง เช่น

-สนธิเข้าด้วยวิธี โลโป คือลบพยางค์สุดท้ายของคำหน้าทิ้ง เช่น
  • นิรส + ภัย  =  นิรภัย
  • ทุรส + พล  =  ทุรพล
  • อายุรส + แพทย์  =  อายุรแพทย์


-สนธิเข้าด้วยวิธี อาเสโท คือแปลงพยัญชนะท้ายของคำหน้า เป็นสระ โอ แล้วสนธิตามปกติ เช่น
  • มนส + ภาพ  =  มโนภาพ
  • ยสส + ธร  =  ยโสธร
  • รหส + ฐาน  =  รโหฐาน


3. นฤคหิตสนธิ คือ การเชื่อมคำด้วยนฤคหิต เป็นการเชื่อมเมื่อพยางค์หลังของคำแรกเป็นนฤคหิตกับเสียงสระในพยางค์แรกของคำหลัง มี 3 วิธี คือ

1. นฤคหิตสนธิกับสระ ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ม แล้วสนธิกัน เช่น 
  • สํ + อาคม = สม + อาคม = สมาคม
  • สํ + อุทัย = สม + อุทัย = สมุทัย


2. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะของวรรค ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของพยัญชนะในแต่ละวรรค ได้แก่
  • วรรคกะ เป็น ง
  • วรรคจะ เป็น ญ
  • วรรคตะ เป็น น
  • วรรคฏะ เป็น ณ
  • วรรคปะ เป็น ม


เช่น
  • สํ + จร = สญ + จร = สัญจร
  • สํ + นิบาต = สน + นิบาต = สันนิบาต


3. วรรคกะ เป็นสนธิกับพยัญชนะเศษวรรค ให้เปลี่ยนนฤคหิต เป็น ง   เช่น
  • สํ + สาร = สงสาร
  • สํ + หรณ์ = สังหรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น