บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบการใช้คำ ชุดที่ 1

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  ประโยคใดไม่มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับความหมายของคำ ?
ก.  อย่าจอดรถขัดขวางการจราจร
ข.  จิ๋มชอบรับประทานอาหารจุกจิก
ค.  ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนั้นจะอุบัติขึ้น
ง.  กุ้งทะเลเป็นสัตว์น้ำจืดที่ราคาแพง

ข้อที่  2.  ประโยคในข้อใดใช้ถ้อยคำได้ถูกต้อง ?
ก.  คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนากันทุกคน
ข.  เธอบ่นอุบอิบเมื่อทราบว่าครูไม่อนุญาตให้จัดงานวันปีใหม่
ค.  การเรียนในคณะอักษรศาสตร์ส่วนมากจะเรียนเกี่ยวกับภาษาเป็นส่วนใหญ่
ง.  นางแบบคนนี้มีหน้าตาคมคายกันจริง ๆ

ข้อที่  3.  ข้อใดใช้ถ้อยคำผิดระดับ ?
ก.  พระเจดีย์ภูเขาทองมีพระอัฐิของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่
ข.  พระสงฆ์ที่วัดนี้ทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ ออกบิณฑบาตตอนเช้าและฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว
ค.  ประธานสภาขอมติจากที่ประชุมว่าสมควรจะปิดประชุมหรือไม่
ง.  พลเมืองดีต้องรู้จักรักษาผลประโยชน์ของตนและส่วนรวมด้วยการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ข้อที่  4.  ข้อใดใช้ถ้อยคำ ไม่ เหมาะสม ?
ก.  เธอทำเรื่อย ๆ อย่างนี้เมื่อไหร่งานจะเสร็จ
ข.  น้ำในลำธารไหลเนือย ๆ อย่างนี้ทุกวัน
ค.  ผมชอบมานั่งที่ศาลาริมน้ำเพราะมีลมพัดเอื่อย ๆ เย็นสบาย
ง.  ดูท่าทางของเขาจะเนือย ๆ กับงานนี้

ข้อที่  5.  ข้อใดใช้ถ้อยคำได้ถูกต้อง ?
ก.  คณะกรรมการกำลังไต่สวนผู้ต้องหา
ข.  ตำรวจสืบสวนตามจับคนร้ายขโมยทองหุ้มพระราชยานได้แล้ว
ค.  ศาลนัดสอบสวนปากคำของโจทย์และจำเลย
ง.  ครูสอบนักเรียนที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการสอบ

เฉลย

ข้อที่  1.  ประโยคใด ไม่มี ข้อบกพร่องเกี่ยวกับความหมายของคำ ?
ก.  อย่าจอดรถขัดขวางการจราจร
ข.  จิ๋มชอบรับประทานอาหารจุกจิก
ค.  ไม่มีใครคาดคิดว่า เหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนั้นจะอุบัติขึ้น
ง.  กุ้งทะเลเป็นสัตว์น้ำจืดที่ราคาแพง

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.

ข้อ ก. ข้อความที่ถูกต้องเป็น “อย่าจอดรถกีดขวางการจราจร”  อันที่จริงความหมายของพจนานุกรมของทั้งสองคำนั้น ใกล้เคียงกันมาก

กีดขวาง       ก. ขวางกั้นไว้, ขวางเกะกะ.
ขัดขวาง       ก. ทําให้ไม่สะดวก, ทําให้ติดขัด.

แต่ในการใช้ภาษานั้น เมื่อคนส่วนใหญ่ใช้ “กีดขวาง” เราก็ต้องกีดขวางตาม

ข้อ ข.  ข้อความที่ถูกต้องเป็น “จิ๋มชอบรับประทานอาหารจุบจิบ

ดูความหมายของพจนานุกรมประกอบด้านล่าง

จุบจิบ      ว. อาการที่กินพร่ำเพรื่อทีละเล็กทีละน้อย, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ กิน เป็น กินจุบกินจิบ, โบราณใช้ว่า กระจุบกระจิบ ก็มี.
จุกจิก      ก. รบกวน, กวนใจ, เช่น อย่าจุกจิกนักเลย. ว. จู้จี้ เช่น เขาเป็นคนจุกจิก; เล็ก ๆ น้อย ๆ, เบ็ดเตล็ดคละกัน, เช่น ในกระเป๋าถือมีแต่ของจุกจิก, กระจุกกระจิก ก็ว่า.

ข้อ ง.  เป็นข้อความกำกวม กุ้งทะเลเป็นสัตว์ [น้ำจืดที่ราคาแพง] ข้อความดังกล่าว ตีความได้ว่า น้ำจืดราคาแพง ไม่ใช่กุ้งทะเล


ข้อที่  2.  ประโยคในข้อใดใช้ถ้อยคำได้ถูกต้อง?
ก.  คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนากันทุกคน
ข.  เธอบ่นอุบอิบ เมื่อทราบว่า ครูไม่อนุญาตให้จัดงานวันปีใหม่
ค.  การเรียนในคณะอักษรศาสตร์ส่วนมาก จะเรียนเกี่ยวกับภาษาเป็นส่วนใหญ่
ง.  นางแบบคนนี้ มีหน้าตาคมคายกันจริงๆ

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.

ข้อ ก.  ข้อความขัดกันเอง ขอให้ดูตัวอักษรสีแดง  “คนไทยส่วนใหญ่ นับถือพระพุทธศาสนากันทุกคน

ข้อ ค. เป็นสำนวนภาษาไม่ดี อ่านแล้วกำกวม  ขอให้ดูตัวอักษรสีแดง “การเรียนในคณะอักษรศาสตร์ส่วนมาก จะเรียนเกี่ยวกับภาษาเป็นส่วนใหญ่”

ง.  เป็นสำนวนภาษาไม่ดีเช่นเดียวกัน ข้อความที่ว่า “นางแบบคนนี้ มีหน้าตาคมคายกันจริงๆ” ควรเขียนแค่ว่า “นางแบบคนนี้ มีหน้าตาคมคาย” ก็จะถูกต้องและเหมาะสมกว่า

ข้อที่  3.  ข้อใดใช้ถ้อยคำผิดระดับ ?
ก.  พระเจดีย์ภูเขาทอง มีพระอัฐิของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่
ข.  พระสงฆ์ที่วัดนี้ ทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ ออกบิณฑบาตตอนเช้าและฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว
ค.  ประธานสภาขอมติจากที่ประชุมว่า สมควรจะปิดประชุมหรือไม่
ง.  พลเมืองดีต้องรู้จักรักษาผลประโยชน์ของตน และส่วนรวมด้วยการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

วิเคราะห์
ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ก. ต้องเขียนเป็น “พระเจดีย์ภูเขาทอง มี พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่

ข้อที่  4.  ข้อใดใช้ถ้อยคำ ไม่ เหมาะสม ?
ก.  เธอทำเรื่อยๆ อย่างนี้ เมื่อไหร่งานจะเสร็จ
ข.  น้ำในลำธารไหลเนือยๆ อย่างนี้ทุกวัน
ค.  ผมชอบมานั่งที่ศาลาริมน้ำ เพราะมีลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย
ง.  ดูท่าทางของเขา จะเนือยๆ กับงานนี้

วิเคราะห์

ดูความหมายจากพจนานุกรมกันก่อน ดังนี้

เรื่อย, เรื่อย ๆ     ว. มีลักษณะอาการอันต่อเนื่องกันไปไม่ขาดระยะ เช่น ทำงานเรื่อยไม่หยุดเลย เดินไปเรื่อย ๆ พูดไปเรื่อย ๆ; เฉื่อย, เฉื่อย ๆ, เช่น ลมพัดมาเรื่อย ๆ เขาเป็นคนเรื่อย ๆ.
เนือย, เนือยๆ    ว. เฉื่อย, ช้าลง, อ่อนลง, เช่น ดูเนือยลงไป นํ้าไหลเนือยๆ; ไม่กระปรี้กระเปร่า เช่น ทํางานเนือยๆ, ไม่ประเปรียว เช่น แก่แล้วชักเนือย.
เอื่อย, เอื่อย ๆ    ว. เรื่อย ๆ, เฉื่อย ๆ, เช่น ลมพัดเอื่อย  นํ้าไหลเอื่อย ๆ, ตามสบายไม่รีบร้อน เช่น เดินเอื่อย ๆ.

จะเห็นว่า เมื่อพิจารณาความหมายของ “เรื่อยๆ”, “เนือยๆ” และเอื่อยๆ” ก็เห็นว่าข้อความก็ถูกต้องเหมาะสมดี
อันนี้จริงแล้ว ความไม่เหมาะสมของข้อความอยู่ที่ “ไม่มีกรรม” ของข้อความ “เธอทำเรื่อยๆ อย่างนี้” ซึ่งควรจะเขียนเป็น “เธอทำ งาน เรื่อยๆ อย่างนี้

ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ก.

ข้อที่  5.  ข้อใดใช้ถ้อยคำได้ถูกต้อง?
ก.  คณะกรรมการกำลังไต่สวนผู้ต้องหา
ข.  ตำรวจสืบสวนตามจับคนร้ายขโมยทองหุ้มพระราชยานได้แล้ว
ค.  ศาลนัดสอบสวนปากคำของโจทย์และจำเลย
ง.  ครูสอบนักเรียน ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการสอบ

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.

ข้อ ก. ข้อความที่ถูกต้องควรเป็น “คณะกรรมการกำลัง สอบสวน ผู้ต้องหา”
ข้อ ค. ข้อความที่ถูกต้องควรเป็น  “ศาลนัดสอบสวนปากคำของ โจทก์ และจำเลย
ข้อ ง.  ข้อความที่ถูกต้องควรเป็น  “ครู สอบถาม นักเรียน ที่ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตในการสอบ


-->

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น